
การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
ปัจจุบันนี้ มีการลักลอบจำหน่ายสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากสัตว์ป่าอยู่เสมอ ๆ บริเวณตลาดนัด ศูนย์การค้า สถานที่ค้าสัตว์เลี้ยง และร้านอาหารป่า ที่พบเห็นกันเป็นประจำ ได้แก่ นกขุนทอง นกปรอดหัวโขน นกกะรางคอดำ แมวดาว นางอาย ผีเสื้อบางชนิด เขาเก้ง เขากวาง หรือกระเป๋า รองเท้าที่ทำจากซากของหนังตะกวด งูเหลือม งูหลาม งูจงอาง เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออกสิ่งดังกล่าว เป็นการทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ผู้กระทำผิดอาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย จึงมีข่าวการจับกุมผู้กระทำความผิดให้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ซึ่งคนเหล่านั้นมีทั้งพวกตั้งใจกระทำผิด และพวกที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ซึ่งมักจะเป็นผู้ซื้อ อนุรักษ์สัตว์ป่า
สรุปย่อสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองป่า พ.ศ.2535 คำจำกัดความ และการกระทำที่เป็นข้อห้ามต่างๆ ตามกฎหมาย
สัตว์ป่า หมายความว่า สัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก แมลง หรือแมง ซึ่งโดยสภาพธรรมชาติย่อมเกิดและดำรงชีวิตอยู่ในป่าหรือในน้ำ และให้หมายความรวมถึงไข่ของสัตว์ป่าเหล่านั้นด้วย แต่ไม่หมายความรวมถึงสัตว์พาหนะที่ได้จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณ ตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ และสัตว์พาหนะที่ได้มาจากการสืบพันธุ์ของสัตว์พาหนะดังกล่าว
สัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย หมายถึง สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ คือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร , แรด , กระซ ู่, กูปรีหรือโคไพร , ควายป่า , ละองหรือละมั่ง , สมันหรือเนื้อสมัน , เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ , กวางผา , นกแต้วแร้วท้องดำ ,นกกระเรียน , แมวลายหินอ่อน , สมเสร็จ , เก้งหม้อ , พะยูนหรือหมูน้ำ และสัตว์ที่จะกำหนดเพิ่ม
สัตว์ป่าคุ้มครอง หมายถึง สัตว์ป่าที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น ช้างป่า , ชะนี , ไก่ฟ้า , นกขุนทอง , เสือดาว , เสือโคร่ง , หมีดำ ฯลฯ สัตว์ป่าใดจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองต้องดูตามบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองในกฎกระทรวง
ล่า หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายแก่สัตว์ป่าที่เจ้าของและอยู่อย่างเป็นอิสระ รวมถึงการล่าไล่ การต้อน การเรียก หรือการล่อเพื่อการกระทำดังกล่าวด้วย
ซากของสัตว์ป่า หมายความว่า ร่างกายหรือส่วนของร่างของสัตว์ป่าที่ตายแล้ว หรือเนื้อของสัตว์ป่า ไม่ว่าจะได้ปิ้ง ย่าง รม ตากแห้ง หมัก หรือทำเพื่อไม่ให้เน่าเปื่อย ไม่ว่าจะชำแหละ แยกออก หรืออยู่ในร่างของสัตว์นั้น และรวมถึง เขา หนัง กระดูก ฟัน งา ขนาย นอ เกล็ด เล็บ กระดอง เปลือก หรือส่วนต่างๆ ที่แยกออกจากร่างของสัตว์ป่าไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว
เพาะพันธุ์ หมายความว่า ขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่นำมาเลี้ยงไว้ด้วยการขยายพันธุ์สัตว์ป่า และรวมถึงขยายพันธุ์สัตว์ป่าด้วยวิธีผสมเทียม หรือย้ายฝากตัวอ่อนด้วย
ค้า หมายความว่า ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่าย แจก หรือโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อประโยชน์ทางการค้า รวมถึง มีหรือแสดงไว้เพื่อขายด้วย
การล่าสัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดล่าหรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือ สัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการเพื่อประโยชน์ในการสำรวจ การศึกษาและการวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครองสัตว์ป่า การเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมป่าไม้
ผู้ใดล่าสัตว์ป่าใกล้สูญพันธ์ุโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายนี้ด้วยความจำเป็น ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ถ้าเป็นการทำเพื่อ ให้ตนเองและผู้อื่นพ้นจากอันตราย หรือเพื่อเป็นการรักษาทรัพย์สินของตนหรือผู้อื่น โดยการล่านั้นได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ และกรณีเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องมิได้นำสัตว์ป่าหรือซากสัตว์เคลื่อนที่ และได้แจ้งเหตุ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที ให้สัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าที่ถูกล่าตามวรรคหนึ่งตกเป็นของแผ่นดิน
การเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ยกเว้น เป็นการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองบางชนิดที่ได้รับใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์จากอธิบดี หรือเป็นการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้ได้รับใบอนุญาตในกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ซึ่งได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้เพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในการครอบครอง
การครอบครองสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดครอบครองสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าสงวน หรือซากสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดให้เพาะพันธุ์ได้ตามกฎหมาย ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว และต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี
แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึง การครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้ได้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ หรือได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว หรือการครอบครองสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ของผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ
การค้าสัตว์หรือซากของสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าห้ามมิให้ผู้ใดค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ยกเว้นเป็นการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ และได้รับอนุญาตจากอธิบดี
บทกำหนดโทษตามลักษณะของความผิด
1.โทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้
1.1 ล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยที่ไม่เป็นข้อยกเว้น
1.2 มีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง ยกเว้น เป็นสัตว์ป่าชนิดที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ตามกฎหมาย
1.3 ค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ยกเว้น เป็นสัตว์ป่าชนิดที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ตามกฎหมายนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่า หรือนำผ่านสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี
2.โทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้
2.1 เพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
2.2 นำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว โดยมิใช่กรณีการนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ และได้รับอนุญาตจากอธิบดี
2.3 จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
3. โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ มีไว้ในครอบครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ โดยไม่ได้รับอนุญาต
4. โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ ทำการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากสัตว์ดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาต
5. โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้
5.1 เก็บ ทำอันตราย มีรังของสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง
5.2 ยิงสัตว์นอกเวลาอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น
5.3 ล่าสัตว์ป่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าอื่นๆ หรือเก็บ หรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า ในบริเวณวัดหรือในบริเวณสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
6. โทษปรับไม่เกินห้าพันบาท สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ นำสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้า โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี นำสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าวเคลื่อนที่ผ่านด่านตรวจสัตว์ป่า โดยไม่แจ้งหรือแสดงใบอนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่า
7. โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ ล่าสัตว์ป่าใดๆ เก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
8. โทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้
8.1 ยึดถือ ครอบครองที่ดิน ปลูกสร้างสิ่งใด แผ้วถาง ทำลายต้นไม้ พรรณพืช ฯลฯ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
8.2 ล่าสัตว์ เก็บรัง ยึดถือครอบครองที่ดิน ทำลายต้นไม้ พันธุ์พืช ฯลฯ ในเขตกำหนดห้ามล่าสัตว์ป่า
9.โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ "ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้"
10. กรณีนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กรรมการผู้จัดการ หรือผู้แทนนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นตน มิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมด้วย
บัญชีสัตว์ป่าสงวน
1. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร 2. แรด 3. กระซู่ 4. กูปรีหรือโคไพร 5. ควายป่า 6. ละองหรือละมั่ง 7. สมันหรือเนื้อสมัน 8. เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ 9. กวางผา 10. นกแต้วแร้วท้องดำ 11. นกกระเรียน 12. แมวลายหินอ่อน 13. สมเสร็จ 14. เก้งหม้อ 15. พะยูนหรือหมูน้ำ
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546 และ กฎกระทรวง เรื่องการกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองที่ให้เพาะพันธุ์ได้ พ.ศ 2546
ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2544 กรมป่าไม้ได้มีประกาศ เรื่อง การตรวจสอบและทำเครื่องหมายสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน และซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งประกาศดังกล่าว กำหนดให้ผู้ครองครองมาแจ้งการครอบครองต่อกรมป่าไม้เพื่อตรวจสอบ และทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่าและจะออกใบอนุญาตให้ครองครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว (สป.2) หรือใบรับรองให้ครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว (สป.3) และหนังสือมอบให้คุ้มครองซากสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชั่คราวแทนกรมป่าไม้ (อญ./สป.1) แต่คนทั่วไปยังไม่เข้าใจรายละเอียดดีพอ จึงมิได้ไปดำเนินการแจ้งตามแบบและวิธีการของกรมป่าไม้
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ทางราชการจึงได้ออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546 ด้วยเหตุผลที่ในปัจจุบันมีผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจำนวนมาก ที่ไม่ได้นำสัตว์ป่าคุ้มครองมามอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่ได้มาแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าคุ้มครอง ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมดูแล ให้ผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองได้ สมควรกำหนดให้ผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแจ้ง การครอบครองและขออนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าว ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องรับโทษ
ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย หากมาแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิด และจำนวนของสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ให้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
หากผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ต้องการจะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไป ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพการเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้นั้น ว่าอยู่ในสภาพที่ดีและปลอดภัยเพียงใด หากเห็นว่าสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ และปลอดภัย ให้อธิบดีอนุญาตให้ผู้นั้นครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้ โดยออกใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวไว้ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ใบอนุญาตดังกล่าวให้มีอายุเพียงเท่าอายุของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น และเมื่อสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นตายหรือเพิ่มจำนวนขึ้นโดยการสืบพันธุ์ ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเพิ่มจำนวนหรือตาย
หากผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ไม่ต้องการจะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไป หรือเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเห็นว่าสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่ดีพอและไม่ปลอดภัย ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้แก่ผู้รับใบอนุญาต ดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ หรือจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่ต้องได้รับอนุญาตให้แก่ผู้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ หรือวันที่ได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาต แล้วแต่กรณี และเมื่อสิ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ยังมีสัตว์ป่าคุ้มครองเหลืออยู่เท่าใดให้สัตว์ป่าคุ้มครองนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่ให้เพาะพันธุ์ได้
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2546 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออก กฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยให้เหตุผลว่าควรส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์เพิ่มเติม เพื่อป้องกันมิให้สูญพันธุ์ และเพื่ออนุญาตให้บุคคลมีไว้ในครอบครอง ค้า และเพาะพันธุ์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงควรที่จะกำหนดสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ตามบัญชีข้างท้ายนี้
บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้
สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กระจงเล็ก กวางป่า ชะมดเช็ดหรือชะมดเชียง ทรายหรือเนื้อทรายหรือตามะแน ลิงกัง ลิงวอก ลิงแสม อีเก้งหรือ เก้งหรือฟาน
สัตว์ป่าจำพวกนก ไก่จุก ไก่ป่า ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหน้าเขียว ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ฟ้าหลังเทา ไก่ฟ้าหางลายขวาง นกกระทาดงแข้งเขียว นกกระทาดงคอสีแสด นกกระทาดงจันทบูรณ์ นกกระทาดงปักษ์ใต้ นกกระทาดงอกสีน้ำตาล นกกระทาทุ่งนกกะรางคอดำหรือนกซอฮู้ นกกะรางสร้อยคอเล็ก นกกะรางสร้อยคอใหญ่ นกกะรางหัวหงอก นกกะรางอกสีน้ำตาลไหม้ นกกะลิงหรือนกกะแล นกกางเขนดง หรือ นกบินหลาดง หรือ นกบินหลาควน หรือ นกจิงปุ๊ย นกกางเขนบ้าน หรือ นกบินหลาบ้าน หรือนกอีแจ้บ หรือนกจีจู๊ นกกิ้งโครงคอดำ นกแก้วโม่ง นกแก้วหัวแพร นกขุนทอง นกแขกเต้า นกปรอดหัวโขน หรือ นกกรงหัวจุก นกยูง นกแว่นสีเทา หรือ นกแว่นเหนือ นกแว่นสีน้ำตาล หรือ นกแว่นใต้ นกหกเล็กปากดำ นกหกเล็กปากแดง นกหกใหญ่ นกหว้า นกเอี้ยงสาริกา หรือ นกเอี้ยงสาลิกา นกเอี้ยงหงอน เป็ดคับแค เป็ดแดง เป็ดเทา เป็ดลาย เป็ดหงส์ เป็ดหางแหลม
สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน งูสิง งูสิงหางลาย หรือ งูสิงลาย งูหลาม งูเหลือม จระเข้น้ำเค็ม จระเข้น้ำจืด
สัตว์ป่าจำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก กบทูด หรือ เขียดแลว
สัตว์ป่าจำพวกปลา ปลาตะพัด หรือ ปลาอโรวาน่า ปลาเสือตอ ปลาเสือ หรือปลาลาด
เป็นอันว่าจบเรื่องของการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งอันที่จริงเรื่องราวของสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง ยังมีอีกมากมาย แต่ทางราชการเองก็ให้ข้อมูลในเรื่องข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติแก่ประชาชนน้อยมาก จึงเป็นเหตุทำให้เกิดปัญหาในการเลี้ยงดูหรือมีไว้ในครอบครอง ต่อไปหากมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงกฎ ระเบียบใดๆ ที่น่าสนใจ ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป